th
en

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านทรัพยากรบุคคล

เนื่องจาก บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สมัครงานของบริษัท อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของบุคคล โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลย่อมมีความประสงค์ที่จะให้ข้อมูลของตนได้รับการดูแลให้มีความมั่นคงปลอดภัย ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรการในการกำกับดูแลการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิต่างๆ ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายฉบับนี้ขึ้นเพื่อเป็นหลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิตามกฎหมายในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้

1. คำนิยาม

“บริษัท” หมายถึง บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)

“เจ้าของข้อมูล” หมายถึง กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สมัครงานของบริษัท ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

2. การเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

2.1 การเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทจะใช้วิธีการที่ชอบด้วยกฎหมายในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล โดยบริษัทจะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจำกัดและเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตามบทบัญญัติของกฎหมาย

2.2 บริษัทอาจเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลที่ได้ให้ไว้หรือมีอยู่กับบริษัท หรือที่บริษัทได้รับหรือเข้าถึงได้จากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ บริษัทข้อมูลเครดิต กรมบังคับคดี สถาบันการเงิน ที่ปรึกษาทางวิชาชีพ เป็นต้น

2.3 ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นปัจจุบันแก่บริษัท อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลที่อาจไม่สามารถทำธุรกรรมกับบริษัท หรืออาจไม่ได้รับความสะดวกหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสัญญาที่มีอยู่กับบริษัท และอาจทำให้เจ้าของข้อมูลได้รับความเสียหายหรือเสียโอกาส และอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายใดๆ ที่เจ้าของข้อมูลหรือบริษัทต้องปฏิบัติตาม

3. ข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผย

ข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผย แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    (1) ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป

บริษัทอาจเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปของเจ้าของข้อมูลแยกตามประเภทของเจ้าของข้อมูล ดังนี้

  • กรณีเจ้าของข้อมูลเป็นกรรมการและ/หรือผู้บริหารของบริษัท

บริษัทอาจเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลแสดงตนของเจ้าของข้อมูล (Identification Information) เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง (กรณีบุคคลต่างด้าว) สถานภาพ ที่อยู่ อาชีพ สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสาร อีเมลแอดเดรส (E-mail address) ข้อมูลการทำธุรกรรมของเจ้าของข้อมูลกับบริษัท ข้อมูลหรือบันทึกการติดต่อระหว่างเจ้าของข้อมูลกับบริษัท ข้อมูลสถานภาพทางการเงินที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการและหรือผู้บริหารของบริษัท ข้อมูลการถือหลักทรัพย์ของบริษัท และข้อมูลหรือช่องทางเกี่ยวกับการชำระเงินหรือผลประโยชน์ต่างๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการกำกับและตรวจสอบคุณสมบัติ ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

นอกจากนี้บริษัทจะทำการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหารตามนิยามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงข้อมูลการถือหลักทรัพย์และข้อมูลอื่นของบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการกำกับและตรวจสอบคุณสมบัติ ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

  • กรณีเจ้าของข้อมูลเป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สมัครงานของบริษัท

บริษัทอาจเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลดังนี้

(ก) ข้อมูลแสดงตนของเจ้าของข้อมูล (Identification Information) และข้อมูลการติดต่อกับเจ้าของข้อมูล เช่น รูปภาพ ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง (กรณีบุคคลต่างด้าว) เพศ วัน/เดือน/ปีเกิด อายุ ที่อยู่ อาชีพ สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสาร อีเมลแอดเดรส (E-mail address) ลายมือชื่อ รูปถ่าย การบันทึกเสียง การบันทึกการติดต่อหรือสนทนากับลูกค้าหรือบุคคลใดๆ ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ที่ตั้ง (Location) การบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด และข้อมูลหรือรหัสประจำตัวอื่น ๆ

(ข) ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เช่น สถานภาพทางการสมรส ข้อมูลเกี่ยวกับบุตร รายละเอียดการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน และผู้รับผลประโยชน์

(ค) ข้อมูลเกี่ยวกับงาน เช่น ตำแหน่งหรือฐานะ ตำแหน่งงาน แผนก รายละเอียดเกี่ยวกับสัญญา ประวัติส่วนตัว ประวัติการจ้างงาน และใบสมัครงาน

(ง) ข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนและผลประโยชน์ของเจ้าของข้อมูล เช่น ข้อมูลค่าจ้าง เงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

(จ) ข้อมูลบัญชีธนาคารสำหรับการจ่ายค่าจ้าง ผลตอบแทน หรือเงินสวัสดิการต่างๆ

(ฉ) ข้อมูลการขาดงาน เช่น วันที่ขาดงาน หรือการใช้วันหยุดพักร้อนและวันลาประเภทอื่นของเจ้าของข้อมูล

(ช) ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย เช่น การประพฤติมิชอบหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในฐานะพนักงาน

(ซ) ประวัติการประเมินผล เช่น การประเมินผลการปฏิบัติงานและการพิจารณาทบทวนผลการปฏิบัติงาน

(ฌ) ประวัติการศึกษา เช่น ประวัติการเรียน ใบรับรองผลการศึกษา ประกาศนียบัตร

(ญ) สถานภาพทางทหาร

(ฎ) ข้อมูลการถือหลักทรัพย์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

    (2) ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลอ่อนไหว (Sensitive Data)

ซึ่งหมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของเจ้าของข้อมูล ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เช่น ข้อมูลชีวภาพ เช่น ข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ ภาพสแกนใบหน้า (face scan / face recognition) ข้อมูลจำลองม่านตา ข้อมูลศาสนาหรือกรุ๊ปเลือด ตามที่ปรากฏรวมอยู่ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (หากมี) ข้อมูลประวัติอาชญากรรมรวมถึงความผิดที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดี ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลสหภาพแรงงาน

บริษัทไม่มีนโยบายจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวของเจ้าของข้อมูล ยกเว้น (1) ในกรณีที่บริษัทได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูล เพื่อวัตถุประสงค์ (ก) ในการพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานหรือทำงานกับบริษัท (ข) ใช้เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าของข้อมูลในการทำงานกับบริษัท หรือ (2) ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัท (Legitimate Interest) หรือกรณีอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด

4. วัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล และการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูล

บริษัทอาจเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

4.1 วัตถุประสงค์ที่บริษัทจำเป็นต้องได้รับความยินยอม

บริษัทอาศัยความยินยอมของเจ้าของข้อมูลในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) การเก็บรวบรวม การใช้ และ/หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวของเจ้าของข้อมูล เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

    (ก) ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ ภาพสแกนใบหน้า (face scan / face recognition) ข้อมูลจำลองม่านตา เพื่อการเข้าไปในอาคาร หรือเพื่อการเชื่อมต่อกับระบบงานต่างๆ ของบริษัท

    (ข) ข้อมูลศาสนาหรือกรุ๊ปเลือด ตามที่ปรากฏรวมอยู่ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (หากมี) เพื่อการยืนยันและพิสูจน์ตัวบุคคล

    (ค) ข้อมูลประวัติอาชญากรรม และข้อมูลสุขภาพ เพื่อการพิจารณาใบสมัครงานและตัดสินใจจ้างงาน การคัดกรองประวัติ การติดตามตรวจสอบ การเบิกสวัสดิการของบริษัท และ/หรือรับผลประโยชน์อื่นใดที่พึงจะได้รับจากบริษัท

(2) ในกรณีที่จำเป็นต้องโอนข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลไปยังประเทศที่อาจจะไม่มีระดับการคุ้มครองข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอม

4.2 วัตถุประสงค์ที่บริษัทอาจดำเนินการโดยอาศัยหลักเกณฑ์หรือฐานทางกฎหมายอื่น ๆ ในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล

บริษัทอาจอาศัยหลักเกณฑ์หรือฐานทางกฎหมายดังต่อไปนี้เพื่อเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล ซึ่งได้แก่

(1) เป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามสัญญา สำหรับการเข้าทำสัญญาจ้างงานหรือการปฏิบัติตามสัญญาจ้างงานกับเจ้าของข้อมูล

(2) เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย 

(3) เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัทและของบุคคลภายนอก เพื่อให้สมดุลกับประโยชน์และสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล

(4) เพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคล และ

(5) ประโยชน์สาธารณะ สำหรับการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐ

บริษัทจะอาศัยหลักเกณฑ์หรือฐานทางกฎหมายใน (1) ถึง (5) ข้างต้น เพื่อการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  • กรณีเจ้าของข้อมูลเป็นกรรมการและ/หรือผู้บริหารของบริษัท

บริษัทจะเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลตามที่จำเป็น เพื่อการกำกับและตรวจสอบคุณสมบัติ ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด

  • กรณีเจ้าของข้อมูลเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

บริษัทจะเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลตามที่จำเป็น เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(ก) การสรรหาบุคลากร เช่น การตัดสินใจจ้างหรือเปลี่ยนแปลงประเภทของสัญญาจ้างงาน (เช่น การเปลี่ยนสถานภาพของเจ้าของข้อมูลจากผู้ฝึกงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรืองานนอกเวลา เป็นพนักงานประจำ)

(ข) การบริหารจัดการภายในองค์กร เช่น การจัดโครงสร้างอัตรากำลัง การโอนย้าย การเปลี่ยนหน้าที่งาน การปรับระดับพนักงาน การเกษียณอายุ เป็นต้น

(ค) การจัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร การปฐมนิเทศและเรียนรู้งาน (on-boarding processes) การจัดอบรมหลักสูตรทั้งภายในและภายนอก การทำทะเบียนการอบรมและการยื่นขอรับรองหลักสูตรและค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมจากหน่วยราชการ เป็นต้น

(ง) การจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน และการให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ค่าจ้าง อัตราการขึ้นเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ

(จ) การบริหารจัดการการลาให้สอดคล้องกับข้อบังคับการทำงานของบริษัท

(ฉ) การติดต่อสื่อสาร รวมถึงการให้การอ้างอิงและคำแนะนำ

(ช) วัตถุประสงค์ทางด้านสถิติและการวิเคราะห์ เพื่อการพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงกระบวนการทำงาน

(ซ) การปฏิบัติตามภาระหน้าที่ทางกฎหมาย เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับแรงงาน สุขอนามัย และความปลอดภัย หรือตามที่หน่วยงานของรัฐร้องขอ

(ฌ) การจัดเก็บประวัติการดำเนินการทางวินัยต่อพนักงาน เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการกำหนดมาตรการทางวินัยเมื่อจำเป็น

(ญ) การดำเนินการตรวจสอบภายในเพื่อติดตามเรื่องร้องเรียนหรือการเรียกร้อง ติดตามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงาน และป้องกันการฉ้อโกง

(ฎ) การติดต่อในกรณีฉุกเฉินไปยังบุคคลที่เจ้าของข้อมูลกำหนด

(ฏ) การป้องกันกิจกรรมของพนักงานซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการละเลยหน้าที่

(ฐ) การคุ้มครองความลับของข้อมูลและสินทรัพย์ของบริษัท

(ฑ) วัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานของเจ้าของข้อมูล (เช่น การดำเนินกิจกรรมหรือการดำเนินงานเพื่อหรือในนามของบริษัท) หรือตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงานของเจ้าของข้อมูล ข้อบังคับการทำงาน หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล

  • กรณีเจ้าของข้อมูลเป็นผู้สมัครงาน

บริษัทจะเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลตามที่จำเป็น เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(ก) การประมวลผลใบสมัครของเจ้าของข้อมูลสำหรับการฝึกงาน งานนอกเวลา งานชั่วคราว หรือการจ้างงาน

(ข) การยืนยันตัวบุคคลและการติดต่อ

(ค) การประเมินและให้คะแนนผู้สมัคร เพื่อการตัดสินใจจ้าง

(ง) การประเมินความเหมาะสม

(จ) การจ่ายกำหนดเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอื่นๆ และการให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

(ฉ) การคัดกรองประวัติตามเกณฑ์ของบริษัท หากเจ้าของข้อมูลได้รับการเสนอตำแหน่งงานกับบริษัท

(ช) การติดต่อในกรณีฉุกเฉินไปยังบุคคลที่เจ้าของข้อมูลกำหนด

(ซ) วัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่บริษัทต้องการอย่างสมเหตุสมผล ตามที่ระบุไว้ในใบสมัครงานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องใด ๆ

4.3 บริษัทจะไม่เก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่บริษัทได้แจ้งแก่เจ้าของข้อมูล เว้นแต่

(1) ได้แจ้งวัตถุประสงค์ใหม่ให้เจ้าของข้อมูลทราบ และได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

(2) เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนด

5. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทได้แจ้งแก่เจ้าของข้อมูลเท่านั้น โดยบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลในกรณีดังต่อไปนี้

(1) บริษัทได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

(2) เป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาหรือตามคำขอของเจ้าของข้อมูล รวมทั้งเปิดเผยเพื่อให้การทำธุรกรรมหรือกิจกรรมใดๆ ของเจ้าของข้อมูลสามารถดำเนินการได้โดยบรรลุวัตถุประสงค์ของเจ้าของข้อมูล

(3) เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การเปิดเผยแก่นิติบุคคลหรือองค์กรเพื่อการดำเนินการในการตรวจสอบและป้องกันการฉ้อฉล การบันทึกภาพในการประชุมหรือทำธุรกรรมกับบริษัท เพื่อการรักษาความปลอดภัยของบริษัท เป็นต้น

(4) เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางการหรือคำสั่งของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล หรือหน่วยงานทางการที่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร ศาล กรมบังคับคดี เป็นต้น

(5) เปิดเผยให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคล หรือองค์กรอื่นใด ดังนี้

    (ก) ผู้ให้บริการภายนอกของบริษัท (Outsource / Service Provider) เช่น ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ธนาคาร ผู้ให้บริการชำระเงิน บริษัทประกันภัย โรงพยาบาล ตัวแทนยื่นขอวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงาน บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ผู้ให้บริการระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคล ผู้ให้บริการฝึกอบรม หรือผู้ให้บริการทางการเงิน เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล สำหรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในข้อ 4 ของนโยบายฉบับนี้

    (ข) หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสรรพากร คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมบังคับคดี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ศาล กรมบังคับคดี ตำรวจ หรือหน่วยงานราชการอื่นใด ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ หรือภาระหน้าที่ทางกฎหมาย

6. การโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ

ในกรณีที่บริษัทมีความจำเป็นต้องส่ง หรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลไปยังต่างประเทศที่มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เพียงพอ บริษัทจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และ/หรือตามมาตรการที่บริษัทเห็นว่าจำเป็นและสมควร เช่น จัดให้มีสัญญารักษาความลับระหว่างบริษัทและผู้รับข้อมูล เป็นต้น

7. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล บริษัทจึงกำหนดให้มีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย การเข้าถึง ทำลาย ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่มีสิทธิหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดในนโยบายและ/หรือแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัท

8. สิทธิของเจ้าของข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล

8.1 สิทธิในการเข้าถึงและขอรับสําเนาข้อมูลส่วนบุคคล

ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลประสงค์จะทราบหรือขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท หรือขอให้บริษัทเปิดเผยการได้มาซึ่งข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลไม่ได้ให้ความยินยอม เจ้าของข้อมูลสามารถมีคำร้องขอตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บริษัทกำหนด

8.2 สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคล

ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลเห็นว่าข้อมูลส่วนบุคคลใดที่เกี่ยวกับตนไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน ไม่สมบูรณ์ หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้บริษัทดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สมบูรณ์และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยทำคำร้องขอต่อบริษัทตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บริษัทกำหนด

ในกรณีที่บริษัทไม่ดำเนินการตามคำร้องขอของเจ้าของข้อมูลตามวรรคแรก บริษัทจะจัดทำบันทึกคำร้องขอของเจ้าของข้อมูล พร้อมด้วยเหตุผลไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้เจ้าของข้อมูลสามารถตรวจสอบได้

8.3 สิทธิขอถอนความยินยอม

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอเพิกถอนความยินยอมที่ให้บริษัทเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่การเพิกถอนความยินยอมจะมีข้อจำกัดโดยกฎหมายหรือสัญญาที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูล เช่น เจ้าของข้อมูลยังมีการใช้บริการหรือธุรกรรมกับบริษัท หรือเจ้าของข้อมูลยังมีภาระหนี้หรือภาระผูกพันตามกฎหมายอยู่กับบริษัท เป็นต้น ซึ่งการถอนความยินยอมนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลได้ให้ความยินยอมไปแล้ว ทั้งนี้ การเพิกถอนความยินยอมดังกล่าวอาจทำให้เจ้าของข้อมูลไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการหรือทำธุรกรรมกับบริษัท หรือไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันการใช้งานบางอย่างได้ หรืออาจทำให้บริการที่จะได้รับจากบริษัทไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

8.4 สิทธิในการขอรับหรือขอให้ส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคล

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนจากบริษัทได้ ในกรณีที่บริษัทได้ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นอยู่ในรูปแบบที่สามารถอ่าน หรือ ใช้งานโดยทั่วไปได้ด้วยเครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติและสามารถใช้หรือเปิดเผยได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ รวมทั้ง (ก) มีสิทธิขอให้บริษัทส่งหรือโอนข้อมูลในรูปแบบดังกล่าวไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอื่น เมื่อสามารถทำได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ หรือ (ข) ขอรับข้อมูลที่บริษัทส่งหรือโอนข้อมูลในรูปแบบดังกล่าวไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอื่นโดยตรง เว้นแต่สภาพทางเทคนิคไม่สามารถทำได้

8.5 สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเมื่อใดก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ด้วยเหตุจำเป็นเพื่อการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของบริษัท หรือ เหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัท เว้นแต่ (ก) บริษัทแสดงให้เห็นถึงเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่สำคัญยิ่งกว่า หรือ (ข) เป็นไปเพื่อก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การปฏิบัติตาม หรือ การใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือ การยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

(2) กรณีที่เป็นการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการตลาดแบบตรง

(3) กรณีที่เป็นการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือสถิติ เว้นแต่การจำเป็นเพื่อการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของบริษัท

8.6 สิทธิขอให้ลบหรือทําลายข้อมูลส่วนบุคคล

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้บริษัทลบ หรือ ทำลาย หรือ ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลหมดความจำเป็นในการเก็บรักษาไว้ตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย

(2) เมื่อเจ้าของข้อมูลถอนความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และบริษัทไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ต่อไป

(3) เมื่อเจ้าของข้อมูลคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามข้อ 8.5 (1) และบริษัทไม่อาจปฏิเสธคำขอคัดค้าน หรือเป็นการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการตลาดแบบตรง

(4) เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลได้ถูกเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

8.7 สิทธิในการขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้บริษัทระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อบริษัทอยู่ในระหว่างการตรวจสอบตามที่เจ้าของข้อมูลร้องขอให้ดำเนินการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สมบูรณ์ หรือไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

(2) เมื่อเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องลบหรือทำลาย เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าของข้อมูลขอให้ระงับการใช้แทน

(3) เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลหมดความจำเป็นในการเก็บรักษาไว้ตามวัตถุประสงค์การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล แต่เจ้าของข้อมูลมีความจำเป็นต้องขอให้เก็บรักษาไว้เพื่อใช้ในการก่อตั้งสิทธิตามกฎหมาย การปฏิบัติตาม หรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือการยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

(4) เมื่อบริษัทอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ให้เห็นถึงเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่สำคัญยิ่งกว่า หรือ การก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การปฏิบัติตาม หรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือการยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลใช้สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูล

8.8 สิทธิในการร้องเรียน

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในกรณีที่บริษัทหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของบริษัทหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือประกาศที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ สิทธิของเจ้าของข้อมูลดังกล่าวข้างต้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทอาจไม่สามารถดำเนินการตามคำร้องขอของเจ้าของข้อมูลได้ในกรณีที่กฎหมายกำหนด หรือในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถูกทำให้ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ หรือในกรณีที่บริษัทมีประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย (Legitimate interest) ที่จะเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เจ้าของข้อมูลยังใช้บริการหรือทำธุรกรรมอยู่กับบริษัท หรือบริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเพื่อการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าของข้อมูลจะยุติความสัมพันธ์กับบริษัทแล้ว เป็นต้น

9. การเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ของบุคคลภายนอก

ในการใช้บริการแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของบริษัทอาจมีลิงก์เชื่อมต่อไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์ม และเว็บไซต์อื่นที่มีบุคคลภายนอกเป็นผู้ดําเนินการ บริษัทพยายามที่จะเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่มีมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถรับผิดชอบในเนื้อหาหรือมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเว็บไซต์อื่นนั้น เว้นแต่จะกําหนดไว้เป็นประการอื่น ข้อมูลส่วนบุคคลใดที่เจ้าของข้อมูลให้แก่เว็บไซต์ของบุคคลภายนอกนั้นจะถูกเก็บรวบรวมโดยบุคคลดังกล่าวและอยู่ภายใต้ประกาศหรือนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลภายนอกดังกล่าว (หากมี) ในกรณีเช่นว่านี้บริษัทขอให้เจ้าของข้อมูลศึกษาและปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ปรากฏในเว็บไซต์นั้นๆ แยกต่างหากจากนโยบายฉบับนี้

10. ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

บริษัทจะจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลไว้ในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อเจ้าของข้อมูล หรือตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้ โดยในกรณีที่เจ้าของข้อมูลยุติความสัมพันธ์หรือสิ้นสุดการจ้างกับบริษัท หรือไม่มีการใช้บริการหรือการทำธุรกรรมบริษัทแล้ว บริษัทจะจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลไว้เป็นเวลา 10 ปี หลังจากนั้น หรือจัดเก็บตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือตามอายุความ หรือเพื่อการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการลบ หรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้

11. ข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

หากเจ้าของข้อมูลให้ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลภายนอกใด ๆ เช่น คู่สมรส บุตร บิดา มารดา บุคคลในครอบครัว ผู้รับผลประโยชน์ บุคคลที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน บุคคลอ้างอิง และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการถือหลักทรัพย์ของเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลขอรับรองว่าเจ้าของข้อมูลมีอำนาจที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าว และมีหน้าที่ให้บุคคลดังกล่าวอนุญาตให้บริษัทใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวตามนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ได้ อีกทั้งเจ้าของข้อมูลต้องรับผิดชอบในการแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบถึงนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ และขอรับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่มีข้อกำหนดตามกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าวให้กับบริษัทโดยไม่ต้องขอความยินยอม

12. การปรับปรุง ทบทวน หรือแก้ไข นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านทรัพยากรบุคคล

บริษัทอาจดำเนินการปรับปรุง ทบทวน หรือ แก้ไข นโยบายฉบับนี้ได้ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด หรือเป็นครั้งคราว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัท กฎหมาย กฎเกณฑ์ของหน่วยงานทางการที่มีอำนาจ หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายฉบับนี้ บริษัทจะเผยแพร่ใน Website ของบริษัทโดยเร็ว

13. การติดต่อบริษัท

หากเจ้าของข้อมูลประสงค์จะติดต่อ หรือมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามนโยบายฉบับนี้ หรือต้องการยกเลิกการให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือกรณีที่พบว่ามีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลไปในทางที่ไม่ชอบ เจ้าของข้อมูลสามารถติดต่อบริษัทผ่านช่องทาง ดังต่อไปนี้

เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล :

(Data Protection Officer)

DPO@thanachartsec.co.th

สถานที่ติดต่อ :

บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่ 444 อาคารเอ็ม บี เค ทาวเวอร์ ชั้นที่ 18 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

14. กฎหมายที่ใช้บังคับ

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านทรัพยากรบุคคลฉบับนี้อยู่ภายใต้การบังคับและการตีความตามกฎหมายไทยและให้ศาลไทยมีเขตอำนาจในการพิจารณาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับนโยบายฉบับนี้

15. ขอบเขตการใช้บังคับสำหรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ

ข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทได้เก็บรวบรวมไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ บริษัทสามารถเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ต่อไปตามวัตถุประสงค์เดิม เจ้าของข้อมูลที่ไม่ประสงค์ให้บริษัทเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวสามารถแจ้งยกเลิกความยินยอมได้ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด

16. วันมีผลใช้บังคับ

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านทรัพยากรบุคคลฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป


Version C.2566-01-11